ทำความรู้จัก! เครื่องจักรในงานอุตสาหกรรม และวิธีการดูแลที่ถูกต้อง
เครื่องจักรอุตสาหกรรม (Industrial Machine) คืออะไร
หัวข้อ
เครื่องจักอุตสาหกรรม คือ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการให้บริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์หลักในการเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และความรวดเร็วในการทำงาน เครื่องจักรเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท
เครื่องจักรอุตสาหกรรมมีหลายประเภทที่ใช้ในกระบวนการผลิตและบริการ ตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงซับซ้อน โดยเครื่องจักรช่วยเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในงานผลิต เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ในปัจจุบัน
ประเภทของเครื่องจักรอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง
เครื่องจักรสามารถแบ่งประเภทได้หลากหลาย เราจึงแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆของเครื่องจักรที่นิยมมากที่สุดในกระบวนการผลิต ดังนี้
1.เครื่องจักรอุตสาหกรรมไฟฟ้า
เป็นเครื่องจักรที่ใช้แรงแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือหม้อแปลงไฟฟ้า โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะแปลงไฟฟ้าเป็นพลังงานกล ในขณะที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแปลงพลังงานกลเป็นไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้าที่เป็นตัวแปลงพลังงานซึ่งจะเปลี่ยนระดับแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับจากระดับแรงดันหนึ่ง ไปสู่ระดับแรงดันหนึ่งโดยไม่มีการเปลี่ยนความถี่
2.เครื่องจักรอุตสาหกรรมไฮดรอลิก
เป็นเครื่องจักรที่ทำงานโดยใช้ของเหลวคือน้ำมันไฮดรอลิก หรือเรียกว่าระบบไฮดรอลิกในการขับเคลื่อนเครื่องจักรเป็นหลัก ซึ่งเป็นระบบที่สามารถส่งแรงในการทำงานได้ดีมาก และมีความรวดเร็วในการเปลี่ยนทิศทางในการส่งกำลัง มันจึงจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องจักรกลหนัก แม้ปัจจุบันจะได้รับความนิยมน้อยกว่าเครื่องจักรแบบไฟฟ้าข้างต้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางอุตสาหกรรมยังคงใช้เครื่องจักรประเภทนี้เป็นหลักอยู่
3.หุ่นยนต์อุตสาหกรรมหรือแขนกลอุตสาหกรรม
เป็นเครื่องจักรที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่แขนกลหรือแขนของหุ่นยนต์ ซึ่งจะมีรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามลักษณะในการใช้งาน โดยแขนของมันจะทำหน้าที่วาง ปรับ หมุน ตำแหน่งของงานต่าง ๆ มักใช้ในกระบวนการผลิตที่ต้องการขนส่งชิ้นส่วนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง หรือเพื่อเลียนแบบการทำงานให้เหมือนแขนของมนุษย์ โดยแขนกลอุตสาหกรรมนี้จะมีความรวดเร็วและความแม่นยำสูง
ประเภทของเครื่องจักรอุตสาหกรรมแบ่งตามประเภทการใช้งาน
- เครื่องจักรกลที่ใช้ยกและขนถ่ายวัสดุ
- เครื่องจักรกลที่ใช้ยกในงานดิน
- เครื่องจักรกลที่ใช้ยกในงานคอนกรีต
- เครื่องจักรกลที่ใช้ในงานถนน
- เครื่องจักรกลที่ใช้กับงานฐานราก
- เครื่องจักรกลที่ใช้ในงานขุดเจาะ
- เครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตอาหาร
- เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การพิมพ์
- เครื่องจักรกลงานอุตสาหกรรม
- เครื่องจักรทำเยื่อกระดาษ
และยังมีเครื่องจักรอื่น ๆอีกมากมายที่อยู่นอกเหนือตัวอย่างที่ยกมา โดยแบ่งออกเป็นลักษณะการทำงานที่หลากหลายประเภท ในประเทศไทยเองก็มีบริษัทผลิตเครื่องจักรมากมายที่มีทั้งการให้คำปรึกษา การจำหน่าย การออกแบบ การสร้าง-ผลิต การติดตั้ง รวมถึงมีโรงงานผลิตเครื่องจักรที่มีมาตรฐาน ในวงการธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เจ้าของธุรกิจหลาย ๆเจ้าต่างก็ต้องการเครื่องจักรที่มีคุณภาพดี แต่อะไรที่บ่งบอกว่านั้นเป็นเครื่องจักรที่ดีเเละเหมาะสมกับธุรกิจของคุณ
ลักษณะของเครื่องจักรที่ดี มีคุณภาพ ควรมี 5 คุณลักษณะดังนี้
- ออกแบบได้มาตรฐานอุตสาหกรรม มีความแม่นยำ เที่ยงตรง เเข็งเเรงทนทาน ใช้วัสดุคุณภาพ
- สามารถรองรับชั่วโมงในการทำงานได้เป็นเวลานาน
- เครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่ควรมีระบบป้องกันความปลอดภัย
- ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานทุกระดับ
- จัดทำคู่มือบำรุงรักษาเครื่องจักรรวมทั้งมีการให้บริการหลังการขายและมีการรับประกันสินค้า
การซ่อมบำรุงเครื่องจักร ในงานอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1.การซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข (Corrective Maintenance)
สำหรับประเภทแรกของการบำรุงเครื่องจักร คือการซ่อมบำรุงเชิงแก้ไข (Corrective Maintenance) เป็นกระบวนการซ่อมบำรุงพื้นฐานที่โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปเลือกใช้กัน ซึ่งมักจะดำเนินการต่อเมื่อมีเครื่องจักรเสียหาย จนไม่สามารถเดินสายกระบวนการผลิตต่อไปได้
2.การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
ในส่วนของการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เป็นการบำรุงเครื่องจักรเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ ทั้งยังลดความเสี่ยงที่เครื่องจักรจะเกิดปัญหาจนต้องหยุดกระบวนการผลิตอย่างกะทันหัน โดยการบำรุงรักษาเชิงป้องกันสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การบำรุงรักษาตามระยะเวลา (Time Based Maintenance: TBM) เป็นการบำรุงเครื่องจักรอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งการบำรุงรักษาประเภทนี้ จะเป็นการตรวจสภาพ ทำความสะอาดเครื่องจักร ขันสกรูให้แน่น รวมถึงเปลี่ยนอะไหล่ต่าง ๆ ตามความจำเป็น เพื่อป้องกันความเสียหายอย่างฉับพลันของเครื่องจักร
- การบำรุงรักษาแบบคาดการณ์ (Predictive Maintenance) เป็นการดูแลเครื่องจักร โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ ด้วยการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มเกี่ยวกับความเสื่อมสภาพ เพื่อการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งานอีกด้วย
3.การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Based Maintenance)
การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Based Maintenance) เป็นกระบวนการบำรุงรักษาที่เหนือกว่าการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพราะไม่ได้เน้นที่การเปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องจักรตามกำหนดระยะเวลาที่จะหมดอายุการใช้งานเท่านั้น แต่จะมีการตรวจเช็กสัญญาณความผิดปกติในการทำงานของเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นค่าการสั่นสะเทือน อุณหภูมิที่สูงขึ้น มีเสียงดัง มีกลิ่นไหม้ หรือมีคราบการรั่วซึม ซึ่งเมื่อตรวจพบสัญญาณเหล่านี้ ก็จะทำการแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ในทันที
4.การบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance)
หากให้แนะนำประเภทของการบำรุงเครื่องจักรที่เป็นขั้นสูงสุดของการบำรุงรักษา คงต้องเป็นการบำรุงรักษาเชิงรุก (Proactive Maintenance) ที่จะให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการชำรุด แล้วนำไปใช้วางแผนในการซ่อมบำรุง รวมถึงวางแนวทางป้องกันไม่ให้เครื่องจักรชำรุดนั่นเอง
ทำไมเราถึงต้องมีการบำรุงรักษาเครื่องจักรอุตสาหกรรม
1.เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร
การซ่อมบำรุงเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน อีกทั้งยังช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ช่วยให้ผู้ประกอบการมีสินค้าส่งออกตรงตามกำหนดอีกด้วย
2.ยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร
อีกหนึ่งความสำคัญของการบำรุงเครื่องจักร คือสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรได้ เป็นการช่วยลดต้นทุนในการซื้อเครื่องจักรใหม่ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
3.เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว การบำรุงเครื่องจักรยังช่วยป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานผิดพลาด และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานจนเกิดการบาดเจ็บได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานนั่นเอง
4.ช่วยลดมลภาวะ
การบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม ยังเป็นการช่วยลดมลภาวะได้อีกด้วย เพราะเครื่องจักรที่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้ใช้งาน รวมทั้งยังลดการเกิดฝุ่นละอองและไอของสารเคมีได้อีกด้วย
5.ช่วยประหยัดพลังงาน
เมื่อเครื่องจักรในอุตสาหกรรมได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยลดความสิ้นเปลืองและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้
สรุป
เครื่องจักรอุตสาหกรรม มีความสำคัญอย่างมากในงานอุตสาหกรรมปัจจุบ้น ซึ่งมีการแบ่งแยกย่อยตามประเภทการใช้งานเพื่อให้เหมาะสม ถูกต้อง ตามมาตรฐานการผลิตที่ผู้ประกอบการต้องการ ดังนั้นการเลือกเครื่องจักรอุตสาหกรรม จึงมีความสำคัญและข้อคำนึงหลายอย่างที่ต้องพิจารณา การดูแลเครื่องจักรอุตสาหกรรม ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การเลือกใช้อุปกรณ์ในอุตสาหกรรม ข้อต่อ หรือ วัสดุต่างๆ จึงต้องมีคุณภาพ และ ตอบโจทย์การใช้งาน เพื่อให้เครื่องจักรของคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ปลอดภัยในการใช้งาน